Wednesday, September 21, 2011

Kalevala


กาเลวาลา
(ฟินแลนด์: Kalevala, Kalewala)
เป็นบทกวีมหากาพย์ ซึ่งนักปรัชญาชาวฟินแลนด์ เอเลียส เลินน์รูต เรียบเรียงขึ้นจากลำนำพื้นบ้านในภาษาฟินแลนด์และภาษาคาเรเลียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 บทกวีนี้ได้รับยกย่องให้เป็นมหากาพย์แห่งประเทศฟินแลนด์ และเป็นงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นจิตวิญญาณของพลเมือง ทำให้ฟินแลนด์สามารถแยกตัวเป็นเอกราชจากรัสเซียได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1917

เนื้อเรื่องของ กาเลวาลา เล่าถึงตำนานการสร้างโลก การกำเนิดของเทพเจ้า และการต่อสู้ของวีรบุรุษแห่งกาเลวา เพื่อต่อต้านอำนาจชั่วร้าย คือฝ่ายศัตรูแห่งแผ่นดินโปห์โยลา ซึ่งได้ครอบครองของวิเศษชื่อ ซัมโป วีรบุรุษแห่งกาเลวาได้แก่ ไวแนเมยเนน อิลมาริเนน และเลมมินไกเนน เป็นผู้เดินทางไปทำสงครามช่วงชิง ซัมโป เพื่อทำลายแผ่นดินโปห์โยลา เนื้อหาส่วนใหญ่ของมหากาพย์เกี่ยวข้องกับชีวิตและการเดินทางของไวแนเมยเนน ซึ่งเป็นตัวละครเอกและเป็นบุตรแห่งเทพสายลม ในตอนท้ายของเรื่อง ไวแนเมยเนนเดินทางออกจากโลกนี้ไป แล้วบุตรแห่งมาเรียตตาจึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งคาเรเลีย เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการรับศาสนาคริสต์เข้ามาในประเทศ

กาเลวาลา มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศฟินแลนด์ ชื่อบุคคลและสถานที่ต่างๆ ในเรื่องนำไปใช้เป็นชื่ออาคารสถานที่และวันเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับ กาเลวาลา ทั้งยังส่งอิทธิพลต่อการสร้างผลงานทางดนตรี ภาพยนตร์ และภาพวาด รวมถึงส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศฟินแลนด์ วรรณกรรมชิ้นสำคัญที่ได้รับอิทธิพลจาก กาเลวาลา คือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ตำนานบุตรแห่งฮูริน ผลงานของนักเขียนชาวอังกฤษ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน


Photobucketโครงเรื่องPhotobucket
กาเลวาลา ประกอบด้วยบทกวีซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 22,795 บท แบ่งออกเป็นเนื้อหาทั้งสิ้น 50 ตอน หรือ 50 คันตอส (ภาษาฟินแลนด์เรียก รูโน) มีเนื้อเรื่องโดยย่อดังต่อไปนี้
"Aino-Taru" ภาพวาดเรื่องราวของไอโน โดย Akseli Gallen-Kallela ค.ศ. 1891

คันตอสที่ 1-10 : ว่าด้วยไวแนเมยเนน ตอนที่หนึ่ง บรรยายความถึงการสร้างโลก มนุษย์คนแรกของโลก การประจันหน้าระหว่าง ไวแนเมยเนน กับ โยวกาไฮเนน โยวกาไฮเนนสัญญายกน้องสาวให้แก่ไวแนเมยเนนเพื่อแลกกับชีวิตตัว ไอโน (น้องสาวของโยวกาไฮเนน) เดินไปสู่ทะเล โยวกาไฮเนนแก้แค้น ไวแนเมยเนนได้รับบาดเจ็บและลอยไปถึงดินแดนโปห์โยลา (แผ่นดินเหนือ) ไวแนเมยเนนพบกับแม่หญิงแห่งแดนเหนือ และตกลงมอบซัมโป ให้แก่มารดาของนางเป็นของขวัญวิวาห์ ไวแนเมยเนนหลอกให้นายช่างอิลมาริเนนไปยังโปห์โยลา เพื่อสร้างซัมโปขึ้นที่นั่น

คันตอสที่ 11-15 : ว่าด้วยเลมมินไกเนน ตอนที่หนึ่ง เลมมินไกเนนลักพาตัวแม่หญิงกุลลิกกิออกมาจากเกาะ ทั้งสองได้ให้คำสัตย์สาบานต่อกัน แต่นางกลับลืมเสีย เลมมินไกเนนเดินทางไปยังโปห์โยลา เพื่อขอวิวาห์กับแม่หญิงแห่งแดนเหนือ โดยต้องทำภารกิจให้สำเร็จคือ วิ่งให้ชนะกวางของปีศาจ จับม้าของปีศาจใส่บังเหียน และยิงหงส์แห่งแดนตัวเนลา (ดินแดนแห่งความตาย) คนเลี้ยงแกะคนหนึ่งสังหารเลมมินไกเนนแล้วโยนร่างเขาทิ้งในแม่น้ำแห่งตัวเนลา มารดาของเลมมินไกเนนปลุกเขาขึ้นมาจากความตาย

คันตอสที่ 16-18 : ว่าด้วยไวแนเมยเนน ตอนที่สอง ไวแนเมยเนนเดินทางไปยังตัวเนลา เพื่อพบกับอันเทโร ไวพูเนน เพื่อขอมนตราสำหรับสร้างเรือที่แล่นไปยังโปห์โยลาได้ อิลมาริเนนกับไวแนเมยเนนแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงแม่หญิงแห่งแดนเหนือ
ภาพวาดการสร้าง ซัมโป โดย Akseli Gallen-Kallela

คันตอสที่ 19-25 : ว่าด้วยการวิวาห์ของอิลมาริเนน อิลมาริเนนสามารถบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยได้รับความช่วยเหลือจากแม่หญิงแห่งแดนเหนือ ได้แก่ ไถหว่านท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยงูพิษ ปราบหมาป่าแห่งตัวเนลา และจับปลาไพค์ในแม่น้ำแห่งตัวเนลา อิลมาริเนนได้วิวาห์กับแม่หญิงแห่งแดนเหนือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับกำเนิดของเหล้าเอล

คันตอสที่ 26-30 : ว่าด้วยเลมมินไกเนน ตอนที่สอง เลมมินไกเนนไม่พอใจที่ไม่ได้รับเชิญไปในงานวิวาห์ เขาเดินทางไปยังโปห์โยลา และชนะการต่อสู้แบบตัวต่อตัวกับเจ้าแห่งแผ่นดินเหนือ กองทัพแดนเหนือจึงฮือขึ้นหมายแก้แค้น มารดาของเขาจึงแนะนำให้รีบหนีไปลี้ภัยอยู่บนเกาะ เมื่อเขากลับมาบ้านก็พบว่าบ้านถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน จึงย้อนกลับไปโปห์โยลา พร้อมกับเทียรา สหายของเขา เพื่อแก้แค้น แต่นายหญิงแห่งแดนเหนือเสกทะเลให้กลายเป็นน้ำแข็ง เลมมินไกเนนจึงต้องย้อนกลับบ้าน

คันตอสที่ 31-36 : ว่าด้วยกุลเลร์โว อุนทาโม สังหารกาเลร์โว พี่ชายของตน รวมถึงข้าทาสบริวารทั้งหมด เว้นแต่เพียงภริยาผู้กำลังตั้งครรภ์และให้กำเนิดกุลเลร์โว อุนทาโมมอบหมายงานให้กุลเลร์โวหลายอย่าง แล้วแกล้งทำลายให้พินาศ เขาขายกุลเลร์โวให้ไปเป็นทาสของอิลมาริเนน และถูกทรมานต่างๆ นานาโดยภริยาของอิลมาริเนน จึงโต้ตอบและทำให้นางสิ้นชีวิต กุลเลร์โวหนีออกมาแล้วพบกับครอบครัวของตนปลอดภัยอยู่ที่แลปแลนด์ กุลเลร์โวได้สตรีนางหนึ่งเป็นภริยา แล้วต่อมาจึงรู้ว่าหญิงนั้นเป็นน้องสาวของตน กุลเลร์โวทำลายอุนตาโมลา (ดินแดนของอุนทาโม) แต่เมื่อกลับมาบ้านพบว่าทุกคนถูกสังหารหมดสิ้น เขาจึงฆ่าตัวตาย

คันตอสที่ 37-38 : ว่าด้วยอิลมาริเนน ตอนที่สอง อิลมาริเนนสร้างภริยาของตนขึ้นใหม่จากทองคำและเงิน แต่พบว่านางเย็นชา จึงทิ้งนางไป อิลมาริเนนลักน้องสาวของแม่หญิงแห่งแดนเหนือมาจากโปห์โยลา แต่นางล้อเลียนเขา เขาจึงทิ้งนางไป อิลมาริเนนบอกกับไวแนเมยเนนถึงชีวิตอันยั่งยืนที่โปห์โยลา อันเนื่องมาจากอำนาจของซัมโป

คันตอสที่ 39-44 : สงครามแห่งซัมโป (ว่าด้วยไวแนเมยเนน ตอนที่สาม) ไวแนเมยเนน อิลมาริเนน และเลมมินไกเนน แล่นเรือไปเพื่อชิงซัมโป พวกเขาสังหารปลาไพค์ยักษ์ และนำกระดูกกรามของมันมาสร้างพิณกันเตเลขึ้นเป็นตัวแรก ไวแนเมยเนนร้องเพลงกล่อมคนในห้องโถงแห่งโปห์โยลาจนหลับ และชิงซัมโปไป นายหญิงแห่งแดนเหนือระดมทัพใหญ่ แปลงกายเป็นนกอินทรี เข้าสู้เพื่อชิงซัมโปคืน ซัมโปร่วงลงไปในทะเล

คันตอสที่ 45-49 : โลวฮิแก้แค้นต่อกาเลวาลา นายหญิงแห่งแดนเหนือส่งโรคระบาดเข้ามาคร่าชีวิตพลเมืองแห่งกาเลวา และส่งหมีเข้ามาสังหารสัตว์เลี้ยง นางเก็บซ่อนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และขโมยไฟไปจากกาเลวา ไวแนเมยเนนกับอิลมาริเนนนำไฟกลับคืนมา ไวแนเมยเนนบังคับให้นายหญิงนำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์กลับมาคืนบนฟากฟ้า

คันตอสที่ 50 : ว่าด้วยมาเรียตตา มาเรียตตาตั้งครรภ์จากการกินผลเบอร์รี่ และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง เนื้อความช่วงนี้มีความหมายเป็นนัยถึงพระแม่มารีและพระเยซูคริสต์ ไวแนเมยเนนออกคำสั่งให้สังหารเด็กชาย เด็กชายว่ากล่าวตำหนิไวแนเมยเนนว่าต้องได้รับพิพากษาโทษ ต่อมาเด็กชายนี้ได้เป็นกษัตริย์แห่งคาเรเลีย ไวแนเมยเนนล่องเรือจากไป

Photobucketรายชื่อคันตอสทั้งหมดPhotobucket

  1. กำเนิดไวแนเมยเนน
  2. การไถหว่านของไวแนเมยเนน
  3. ไวแนเมยเนนกับโยวกาไฮเนน
  4. ชะตากรรมของไอโน
  5. การตกปลาของไวแนเมยเนน
  6. ธนูของโยวกาไฮเนน
  7. ไวแนเมยเนนพบโลวฮิ
  8. การบาดเจ็บของไวแนเมยเนน
  9. กำเนิดของเหล็ก
  10. อิลมาริเนนสร้างซัมโป
  11. เลมมินไกเนนกับกุลลิกกิ
  12. กุลลิกกิละเมิดคำสาบาน
  13. กวางใหญ่ของฮีสิ
  14. ภารกิจของเลมมินไกเนนและการเสียชีวิต
  15. การคืนชีพของเลมมินไกเนน
  16. การสร้างเรือของไวแนเมยเนน
  17. ไวแนเมยเนนกับอันเทโร ไวพูเนน
  18. การประลองชิงคู่ ระหว่างไวแนเมยเนนกับอิลมาริเนน
  19. ภารกิจของอิลมาริเนน และพิธีหมั้น
  20. ตำนานการสร้างเบียร์
  21. งานฉลองวิวาห์ของอิลมาริเนน
  22. ความทรมานของเจ้าสาว
  23. ออสโมทาร์แนะนำเจ้าสาว
  24. การจากไปของเจ้าสาวและเจ้าบ่าว
  25. การกลับมาของเจ้าสาวและเจ้าบ่าว
  1. เลมมินไกเนนเดินทางไปโปห์โยลา
  2. การประลองที่โปห์โยลา
  3. มารดาของเลมมินไกเนน
  4. เกาะลี้ภัย
  5. เลมมินไกเนนกับเทียรา
  6. อุนทาโมกับกุลเลร์โว
  7. กุลเลร์โวเป็นเมษบาล
  8. การตายของภริยาของอิลมาริเนน
  9. กุลเลร์โวได้พบครอบครัว
  10. กุลเลร์โวได้พบน้องสาว
  11. ชัยชนะและความตายของกุลเลร์โว
  12. เจ้าสาวทองคำของอิลมาริเนน
  13. อิลมาริเนนเกี้ยวพาไม่สำเร็จ
  14. การรวมพลต่อต้านโปห์โยลา
  15. ปลาไพค์ กับ กันเตเล
  16. ดนตรีของไวแนเมยเนน
  17. สงครามชิงซัมโป
  18. ซัมโปสูญหายในทะเล
  19. กำเนิดพิณคันที่สอง
  20. โลวฮิส่งโรคระบาดไปกาเลวาลา
  21. หมียักษ์ออตโซ
  22. การขโมยดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และไฟ
  23. การจับปลาเพลิง
  24. การกู้คืนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
  25. มาเรียตตา

สองพี่น้อง Poavila และ Triihvo Jamanen กำลังขับลำนำพื้นบ้านฟินแลนด์ ที่หมู่บ้าน Uhtua ในปี ค.ศ. 1894 ปัจจุบันคือสาธารณรัฐคาเรเลีย




ภาพวาดการสร้าง ซัมโป
โดย Akseli Gallen-Kallela


PhotobucketอิทธิพลของกาเลวาลาPhotobucket
รูปปั้น 'ไวแนเมยเนน' โดย โรเบิร์ต สไตเจลล์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1870 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
อาคารโปห์โยลา ในกรุงเฮลซิงกิ

มาร์คู เนียมิเนน (Marku Nieminen) ผู้อำนวยการสถาบันกาเลวาลาแห่งฟินแลนด์ หรือ จูมินเกโก กล่าวถึงอิทธิพลของ กาเลวาลา ว่า "หากมิใช่เพราะกาเลวาลา ฟินแลนด์คงไม่มีทางได้รับเอกราช และคงไม่มีภาษาเป็นของตัวเอง เราคงต้องใช้ภาษารัสเซียหรือภาษาสวีดิชแทน" ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฟินแลนด์ยังตกอยู่ใต้การปกครองของรัสเซีย โดยที่ซาร์แห่งรัสเซีย ดำรงตำแหน่งแกรนด์ดยุคแห่งฟินแลนด์ด้วย แต่หลังจากที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ตามมาด้วยความยุ่งเหยิงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งชาวฟินแลนด์ต้องส่งทหารไปร่วมรบในบอลติกด้วย ฟินแลนด์เริ่มตื่นตัวและพยายามประกาศตัวเป็นเอกราช มีความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในฟินแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิชาการ นักปรัชญา กวีและนักประพันธ์หลายคนต่างมีบทบาทสำคัญ เช่น เจ. แอล. รูนเบิร์ก นักกวี; เจ. วี. สเนลล์แมน รัฐบุรุษและนักปรัชญา ผู้ชูประเด็นความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาฟินแลนด์ รวมถึงนักภาษาศาสตร์ เอเลียส เลินน์รูต ผู้เรียบเรียงงานมหากาพย์ กาเลวาลา โดยที่ กาเลวาลา เป็นงานที่ได้รับเกียรติว่าไม่เพียงเป็นตำนานของชนท้องถิ่นแถบนั้น แต่เป็น "สัญลักษณ์" และได้รับยกย่องให้เป็น "มหากาพย์แห่งชาติ" ของฟินแลนด์ กาเลวาลา จึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศฟินแลนด์มาก ปรากฏผลงานสืบเนื่องอยู่มากมายในฟินแลนด์ ตั้งแต่ดนตรีไปจนถึงงานศิลปะ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อวัฒนธรรมอื่นๆ นอกประเทศฟินแลนด์ด้วยเช่นกัน มากน้อยแตกต่างกันไป

ในประเทศฟินแลนด์มีงานเฉลิมฉลอง "วันกาเลวาลา" ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของทุกปี อันเป็นวันครบรอบการตีพิมพ์ผลงานของเอเลียส เลินน์รูต เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1835

ชื่ออื่นๆ ในตำนาน กาเลวาลา ยังใช้เป็นชื่อวันเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ในฟินแลนด์ แม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัววรรณกรรมโดยตรงก็ตาม รวมถึงนำไปใช้ตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ ด้วย เช่น อาคารโปห์โยลา (Pohjola House) ในกรุงเฮลซิงกิ ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1901 ด้านหน้ามีป้ายสลักชื่อทั้ง "โปห์โยลา" และ "คุลแลร์โว" ปัจจุบันเป็นที่ทำการของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ยังมีธนาคารแห่งหนึ่งในฟินแลนด์ชื่อว่า ธนาคารซัมโป ซึ่งนำชื่อมาจากของวิเศษในเรื่อง กาเลวาลา นั่นเอง

No comments :

Post a Comment