Saturday, March 10, 2012

Charles André Joseph Marie de Gaulle✿.

.Charles André Joseph Marie de Gaulle.

Photobucket

ประวัติ
ชาร์ล เดอ โกล เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 เป็นลูกคนที่ 3 ใน 5 ของครอบครัวโรมันคาทอลิกที่มีลักษณะอนุรักษ์-เสรีนิยมที่เมืองลีล ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศฝรั่งเศสติดกับประเทศเบลเยี่ยม เขาเติบโตและได้รับการศึกษาในกรุงปารีสที่ Collège Stanislas de Paris และยังได้ศึกษาในประเทศเบลเยียมระยะหนึ่ง

เชื้อสายฝ่ายพ่อของชาร์ล เดอ โกลนั้นเป็นชนชั้นผู้ดีตระกูลสูง (อภิชนาธิปไตย) ในแถบนอร์ม็องดีและเบอร์กันดีมาเป็นเวลานาน ซึ่งได้ย้ายรกรากมาอาศัยอยู่ในกรุงปารีสเป็นเวลากว่าศตวรรษแล้ว ส่วนเชื้อสายทางฝ่ายแม่ของเขานั้น เป็นผู้บริหารกิจการอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยแห่งเมืองลีลในบริเวณฟลานเดอส์ฝรั่งเศส

ปู่ของชาร์ล เดอ โกลนั้นเป็นนักประวัติศาสตร์ ส่วนย่าเป็นนักเขียน พ่อของเขา อ็องรี เดอ โกล เป็นครูในโรงเรียนคาทอลิกเอกชน ซึ่งเขาได้ตั้งโรงเรียนขึ้นมาเอง การโต้วาทีเรื่องการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ครอบครัวเขาทำเป็นประจำ เมื่อตอนเขาเด็ก ๆ พ่อของเขาก็ได้แนะนำนักเขียนผู้ซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยมอยู่เป็นประจำ ครอบครัวเขาเป็นครอบครัวที่มีความเป็นชาตินิยม เขาเติบโตมาด้วยความศรัทธาที่มีต่อชาติของตนเอง

ครอบครัวเขาเป็นพวกจารีตนิยม อนุรักษ์นิยมและยังสนับสนุนการปกครองในระบอบราชาธิบไตย แต่ถึงกระนั้นครอบครัวเขาก็ได้ยึดถือกฎหมายและเคารพสาธารณรัฐเป็นอย่างดี มุมมองทางการเมืองของพวกเขายังออกไปแนวเสรีนิยมอีกด้วย


สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2: แนวร่วมการปลดปล่อยฝรั่งเศส
เขาได้ทำงานร่วมกับกลุ่มการต่อต้านของฝรั่งเศสและผู้สนับสนุนการครอบครองเมืองขึ้นฝรั่งเศสบริเวณแอฟริกา ต่อมาหลังภารกิจ Operation Torch ที่ทหารอังกฤษและอเมริกันยกพลบุกเมืองขึ้นฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 (เมืองขึ้นฝรั่งเศสขณะนั้นภายใต้รัฐบาลวิชีฝรั่งเศส) ชาร์ล เดอ โกลได้ย้ายกองบัญชาการไปยังเมืองแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2486 หลังจากนั้นเดอ โกลก็ได้เป็นประธานร่วม (ร่วมกับพลเอกอ็องรี ชีโรด์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน) และภายหลังเป็นประธานคณะกรรมมาธิการปลดปล่อยแห่งชาติ (คนเดียว)

ระหว่างภารกิจการปลดปล่อยฝรั่งเศสนั้น ทหารอังกฤษและอเมริกันก็ได้ยกพลขึ้นผืนแผ่นดินใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศสในภารกิจ Operation Overlord หรือเป็นที่คุ้นหูในนาม "การรบแห่งนอร์ม็องดี" เดอ โกลก็สถาปนาแนวร่วมการปลดปล่อยฝรั่งเศสในผืนแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศส หลีกเลี่ยง รัฐบาลทหารสัมพันธมิตรเพื่อครอบครองดินแดน (AMGOT) เขาได้นั่งเครื่องบินจากประเทศแอลจีเรียมายังฝรั่งเศสก่อนการเป็นเสรีภาพของกรุงปารีส และได้เคลื่อนที่เข้าไปบริเวณแนวหน้าใกล้ ๆ เมืองหลวงพร้อมกับทหารสัมพันธมิตร เขาได้กลับไปยังกรุงปารีสในไม่ช้า และก็ได้กลับเข้าทำงานในกระทรวงระหว่างสงคราม และก็ได้ประกาศว่าสาธารณรัฐที่ 3 ยังคงอยู่ต่อไปและปฏิเสธการปกครองของวิชีฝรั่งเศส

เดอ โกลได้เป็นประธานคณะรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (GPRF) เริ่มในเดือนกันยายน พ.ศ. 2487 เขาได้ส่งหน่วยปฏิบัติการฝรั่งเศสนอกประเทศแห่งตะวันออกไกล (Corps Expéditionnaire Français en Extrême-Orient, CEFEO) เพื่อที่จะสถาปนาอำนาจในภูมิภาคอินโดจีนฝรั่งเศสขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2488 และได้แต่งตั้งพลเรือเอกดาร์ชองลีอู เป็นผู้บัญชาการอินโดจีนฝรั่งเศส และจอมพลเลอเคลิร์กเป็นผู้บัญชาการสูงสุดในอินโดจีนฝรั่งเศสและบังคับบัญชาหน่วยปฏิบัติการฝรั่งเศสนอกประเทศแห่งตะวันออกไกล

ภายใต้การนำของชาร์ล เดอ โกล ผู้ที่ได้ทำการต่อต้านและต่อสู้เพื่อฝรั่งเศสมาก่อนหน้านี้แล้วนั้น (ส่วนมากเป็นทหารจากเมืองขึ้นฝรั่งเศส) สามารถเคลื่อนกองทัพ ๆ หนึ่งของฝรั่งเศสในบริเวณแนวตะวันตกได้ โดยการกระทำภารกิจยกพลขึ้นทางตอนใต้ของฝรั่งเศส (Operation Dragoon) ซึ่งสามารถทำให้ 1 ใน 3 ของประเทศฝรั่งเศสเป็นเสรีจากกองทัพเยอรมันได้ ทหารกลุ่มนี้เรียกว่า กองทัพฝรั่งเศสกลุ่มแรก ทำให้กองทัพฝรั่งเศสนั้นได้เข้าร่วมในการต่อสู้กับเยอรมนีทางทหารพร้อมเพรียงกับทหารอังกฤษโดยปริยาย และยังได้ยึดดินแดนที่กองทัพเยอรมันครอบครองไว้คืนมาอีกด้วย และนี่ส่งผลไปถึงการที่ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาการยอมแพ้ของเยอรมนีด้วย มากกว่านั้นฝรั่งเศสยังมีโอกาสที่จะควบคุม 1 ใน 4 ส่วนของประเทศเยอรมนีหลังสงครามอีกด้วย (พร้อมกับ สหราชอาณาจักร รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา)

เดอ โกลได้ลาออกเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2489 ด้วยการตำหนิว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่ามีความขัดแย้งกันเองและไม่รับรองรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 ซึ่งเขาเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจรัฐสภามากเกินไป พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพันธมิตรของพรรคการเมือง คนที่ได้รับตำแหน่งต่อจากเขาคือ เฟลิกซ์ กูแอง (SFIO), ต่อมาคือ ฌอร์ฌ บีโด (MRP) และสุดท้ายคือ เลอง บลูม (SFIO)



PhotobucketPhotobucket

No comments :

Post a Comment