Friday, September 28, 2012

"เหตุใดในหลวงจึงไม่โปรดเสวยปลานิล"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเสวยปลานิล
ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย
จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่รับสั่งอะไรเลย

จนวันหนึ่งมีผู้กล้าหาญชาญชัยกราบบังคมทูลถามว่า
เพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวยปลานิล มีรับสั่งว่า
“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร” 

มาดูประวัติปลานิลกันครับ




ถิ่นกำเนิด


ปลานิลสามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดาน, ยูกันดา และทะเลสาบแทนกันยีกา

ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

ผลการทดลองปรากฏว่าปลานิลที่ทรงโปรดเกล้าให้ทดลองเลี้ยงได้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า ปลานิล (โดยมีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica) และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้กับกรมประมงจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี

ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์ปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาต่อไป ในทางวิชาการเรียกสายพันธุ์ปลานิลดังกล่าวว่า ปลานิลจิตรลดา ซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ที่ประเทศไทยได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ

ลักษณะทั่วไป

ปลานิลมีเป็นรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ (O. mossambicus) แตกกันที่ปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามลำตัว มีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร

อาหาร

ปลานิลกินอาหารได้หลากหลาย เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง กุ้งฝอย ผักบุ้ง หรือจะเรียกได้ว่า ว่ายไปเจออะไรก็กินได้หมด

นิสัย

ปลานิลมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง (ยกเว้นเวลาสืบพันธุ์) มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จากการศึกษาพบว่าปลานิลทนต่อความเค็มได้ถึง 20 ส่วนในพัน ทนต่อค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ได้ดีในช่วง 6.5-8.3 และสามารถทนต่ออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส พบว่าปลานิลปรับตัวและเจริญเติบโตได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้เป็นเพราะถิ่นกำเนิดเดิมของปลาชนิดนี้อยู่ในเขตร้อน
การสืบพันธุ์

ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยใช้เวลา 2-3 เดือนต่อครั้ง แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5-6 ครั้ง โดยตัวผู้จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมีย เพื่อเป็นการกระตุ้นและเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ปลาตัวเมียจะวางไข่ออกมาครั้งละ 10 หรือ 12 ฟอง ในขณะเดียวกันปลาตัวผู้ก็จะว่ายคลอคู่เคียงกันไปพร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อผสม กับไข่นั้น ทำอยู่เช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ

ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วปลาตัวเมียจะเก็บไว้ฟัก โดยวิธีอมไข่เข้าไว้ในปาก แล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า ส่วนตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเวียนว่ายไปเคล้าเคลียกับตัวเมียอื่น ๆ ต่อไป แม่ปลานิลจะอมไข่ไว้ในปากเป็นเวลา 4-5 วัน ไข่จะเริ่มฟักออกเป็นตัว ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ ๆ จะอาศัยอาหารจากถุงอาหารธรรมชาติซึ่งติดอยู่ที่ท้อง ขณะเดียวกันแม่ปลายังคงต้องอมลูกปลาอยู่ต่อไป จนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติของลูกปลายุบหายไป

หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้วประมาณ 3-4 วัน แม่ปลาก็จะคายลูกปลาให้ว่ายออกมาจากปาก ลูกปลาในระยะนี้สามารถกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็ก ๆ ซึ่งมีอยู่ในน้ำ โดยจะว่ายวนเวียนอยู่ที่บริเวณหัวของแม่ปลา และจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากเมื่อต้องการหลบหลีกอันตราย โดยลูกปลาจะเข้าทางปากหรือช่องเหงือก หลังจากลูกปลามีอายุ 1 สัปดาห์ จึงจะเลิกหลบเข้าไปซ่อนในช่องปากของแม่ แต่แม่ปลาก็ยังคอยระวังศัตรูให้ โดยว่ายวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ลูกปลาหาอาหารกินอยู่ ปลานิลจะรู้จักวิธีหาอาหารกินได้เองเมื่อมีอายุได้ 3 สัปดาห์ และมักจะว่ายกินอาหารรวมกันเป็นฝูง
การพัฒนาสายพันธุ์

    ปลานิลแดง เป็นการพัฒนาสายพันธุ์จากปลานิลธรรมดา ๆ ของศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น โดย ดร.ปกรณ์ อุ่นประเสริฐ ได้ปลาที่มีลักษณะเป็นปลาที่มีสีขาวอมแดง จึงขึ้นทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้รับการพระราชทานนามว่า "ปลานิลแดง" มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522

    ปลาทับทิม เป็นการพัฒนาสายพันธุ์โดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ บริษัท ซีพี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จนได้ปลานิลสายพันธุ์ใหม่ที่อดทน สามารถเลี้ยงได้ดีในน้ำกร่อยได้ เนื้อแน่นมีรสชาติอร่อยกว่าปลานิลธรรมดา เนื่องจากมีสีขาวอมแดงเรื่อ ๆ คล้ายทับทิม จึงได้รับการพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ปลาทับทิม"

    ปลานิลซูเปอร์เมล หรือ ปลานิลเพศผู้ GMT เป็นการพัฒนาสายพันธุ์จนได้ปลาเพศผู้ทั้งหมด โดยทำการดัดแปลงโครโมโซม ซึ่งปลานิลซูเปอร์เมลให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าปลานิลทั่วไป



ที่มา  :  http://bluemoon-mcfc.in.th

No comments :

Post a Comment