Monday, October 1, 2012

′ครูลิลลี่′ค้านราชบัณฑิตแก้วิธีเขียน 176 คำศัพท์ลูกครึ่งอังกฤษ ห่วงโกลาหลสร้างความสับสน



กองศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เตรียมสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ จำนวน 176 คำ เนื่องจากเห็นว่ามีการเขียนผิด และไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขระวิธีไทยและการอ่านออกเสียง โดยจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประมาณ 300 ชุด เกี่ยวกับการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เพื่อสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดดังกล่าวได้มีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการและครูผู้สอน ทั้งจากฝ่าย ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเกรงว่าจะทำให้ ผู้ใช้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น โดยให้การสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายกิจมาโนจญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่ ติวเตอร์วิชาภาษาไทย ชื่อดัง แสดงความไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าจะทำให้เกิดความโกลาหลอย่างใหญ่หลวง และทำให้เด็กเกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น เข้าใจว่าสาเหตุที่ราชบัณฑิตจะเปลี่ยนแปลงการเขียน เพราะเห็นว่าปัจจุบันคำยืมมาจากภาษาอังกฤษ ยังออกเสียงไม่ตรงกับวรรณยุกต์ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็น เช่น แม้จะเขียนว่า "คอมพิวเตอร์" ตามอักขระภาษาอังกฤษ แต่ทุกคนก็อ่านออกเสียงว่า "ค็อมพิ้วเตอร์" ตรงสำเนียงภาษาไทย ซึ่งคนยอมรับและเข้าใจอยู่แล้ว

"วันนี้ คิดว่ายังไม่ควรแก้ไขสิ่งเหล่านี้ มันนิ่ง อยู่แล้ว ไม่ควรทำให้เกิดความสับสน โกลาหล ปัจจุบันภาษามีความเปลี่ยนแปลงบ่อย มีศัพท์สแลงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเกือบทุกวัน และถ้าจะต้องปรับเปลี่ยนจริงๆ คงไม่ใช่แค่ 176 คำ แต่คงต้องเปลี่ยนเป็นพันๆ คำ และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งเด็กคงจะสับสนมาก" นายกิจมาโนจญ์กล่าว

ครูลิลลี่กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะเป็นครูภาษาไทย คิดว่าวิธีการดีที่สุดควรจะสอนให้เด็กอ่าน ออกเสียงให้ถูกต้องว่า ถ้าอ่านออกเสียงแบบนี้เป็นการออกเสียงตามแบบภาษาอังกฤษ และ แบบนี้คือการออกเสียงแบบภาษาไทย เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจถูกต้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทั้งหมดต้องถามคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ถามแค่คนหลักร้อยหลักพันเท่านั้น เพราะหากสมมุติว่าต่อไปอีก 50 ปี มีคณะกรรมการจากราชบัณฑิตอีกชุดมีความเห็นว่าควรจะกลับไปใช้เหมือนเดิม ก็จะทำให้เกิดความสับสนกลายเป็นเรื่องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา




ครูลิลลี่ กล่าวด้วยว่า กรณีกังวลว่าชาวต่างชาติที่มาเรียนภาษาไทย เจอศัพท์บางคำที่ไม่มีวรรณยุกต์จะเกิดความสับสนนั้น เห็นว่าเราควรจะมองคนในชาติเป็นหลักมากกว่าจะไปห่วงชาวต่างชาติ เพราะเวลาคนไทยไปเรียนภาษาต่างประเทศก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเจ้าของภาษา เช่นกัน

นายบุญส่ง อุษณรัสมี อนุกรรมการประเมินผลงานครูวิชาภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และอดีตครูเชี่ยวชาญภาษาไทย โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะรูปแบบการเขียนภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับภาษาไทย ซึ่ง เป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ แต่ภาษาอังกฤษไม่มี ดังนั้นไม่ควรนำการออกเสียงของไทยไปกำหนดรูปแบบการเขียนทับศัพท์ในภาษา อังกฤษ ควรจะคงรูปแบบการเขียนเดิมเอาไว้ ไม่เช่นนั้นจะดูเป็นเรื่องประหลาด และจะกลายเป็นเรื่องตลก

เช่น "โควตา" ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้องอ่านออกเสียงว่า "โควต้า" โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการเขียน เพราะแต่ละชาติก็ออกเสียงคำในภาษาอังกฤษไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ถ้าเรามาเปลี่ยนวิธีการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้ากับการออกเสียงของเรา มันจะดูเป็นเรื่องประหลาด ราชบัณฑิตอาจจะตระหนกมากเกินไป มีหลายคำที่รูปแบบภาษามีความสละสลวยในตัวอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน และคนเข้าใจความหมายว่าคืออะไร" นายบุญส่งกล่าว

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หากราชบัณฑิตมีการเปลี่ยนแปลงคำยืมมาจากในภาษาอังกฤษ เพื่อให้อ่านออกเสียงง่ายขึ้นคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเด็ก ทั้งในการเรียนวิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หากมีการเปลี่ยน แปลงจริงๆ ตำราเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คงต้องปรับให้เหมือนกับของราชบัณฑิตด้วย เพราะราชบัณฑิตถือเป็นสถาบันสำคัญที่ดูแลเรื่องความถูกต้องของการใช้ภาษาไทย อย่างไรก็ตาม คิดว่า คงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และไม่กระทบกับเนื้อหาหลักในตำราเรียน

นางสาววีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.กล่าว ว่า ในมิติของ สพฐ.ซึ่งเป็นส่วนราชการ หากราชบัณฑิตเปลี่ยนแปลงคำศัพท์อะไรก็คงต้องใช้ตาม เชื่อว่าคงไม่เกิดความสับสน หากมีการชี้แจงให้รอบด้าน และเท่าที่ทราบเป็นการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่นำมาจากต่างประเทศ ให้ชัดเจนขึ้นระหว่างภาษาอ่านกับภาษาเขียน ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเสียหายอาทิ คำว่า "แคลอรี" มาเป็น "แคลอรี่" ทำให้ภาษาเขียนกับการออกเสียงไปด้วยกันได้ เด็กรุ่นใหม่ที่เขียนทับศัพท์ก็ไม่เกิดความสับสน อ่านง่ายขึ้น ส่วนคนรุ่นอื่นๆ ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะสมัยนี้การสื่อสารมีความรวดเร็วมาก ดังนั้นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์คำเหล่านี้ให้ใช้อย่างแพร่หลายจึงไม่ใช่ เรื่องยาก และคงใช้เวลาไม่นาน

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วย เป็นเรื่องที่น่าทำ เพราะจะทำให้ภาษามี วิวัฒนาการร่วมสมัยมากขึ้น และที่สำคัญทำให้ช่องว่างเรื่องภาษาลดลง เป็นประโยชน์กับนักเรียนในการสะกดคำให้ตรงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับเปลี่ยนจริง ช่วงแรกจะมีปัญหาเรื่องพจนานุกรมฉบับเก่ากับฉบับใหม่ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่คิดว่าจะไม่เกิดความสับสน ขณะเดียวกันราชบัณฑิตเองจะต้องทำประชา สัมพันธ์เกี่ยวกับศัพท์ใหม่ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียที่จะสื่อสารไปยังผู้ใช้ทุกกลุ่มได้เร็วกว่าช่อง ทางอื่นๆ หรืออาจเชิญนักเรียนมาร่วมพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เด็กๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม

No comments :

Post a Comment