ประวัติเค้กแต่งงาน
ในสมัยโบราณ
เจ้าสาวจะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสขนมเค้กแต่งงานเลย
เนื่องจากเค้กแต่งงานในยุคเริ่มแรกนั้น ทำขึ้นเพื่อ “ปา” ใส่เจ้าสาว
เค้กแต่งงานมีพัฒนาการในฐานะที่เป็นหนึ่งในบรรดาสัญลักษณ์แห่งความอุดม
สมบูรณ์ที่จะขาดเสียมิได้ในพิธีแต่งงาน ในยุคที่ผ่าน ๆ มา
ผู้คนจะคาดหวังว่า บุตรสืบสกุลจะติดตามมาทันทีภายหลังการแต่งงาน
ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนพอ ๆ กับมีกลางวันแล้วต้องมีกลางคืน
ข้าวสาลีซึ่งถือกันมานานแล้วว่า
เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง
เป็นเมล็ดธัญพืชที่ใช้โปรยใส่เจ้าสาวตามพิธีการ
หญิงสาวที่ยังไม่มีคู่ครองจะแย่งกันเก็บเมล็ดข้าวสาลีเพื่อเป็นเครื่อง
ประกันว่า พวกเธอก็จะได้แต่งงานในไม่ช้า
การแย่งเมล็ดข้าวสาลีนี้มีคตินิยมเช่นเดียวกับการแย่งช่อดอกไม้ของเจ้าสาวใน
ยุคปัจจุบัน
ช่างทำขนมชาวโรมันซึ่งมีฝีมือการอบขนมเป็นที่ยกย่องเลื่องลือ
เป็นผู้เปลี่ยนแปลงประเพณีปฏิบัติดังกล่าว โดยเมื่อราว 100
ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกช่างทำขนมได้ริเริ่มอบขนมเค้กชิ้นเล็กๆ มีรสหวาน
ทำจากข้าวสาลีเพื่อใช้รับประทานในงานแต่งงานแทนที่จะใช้ “ปา” อย่างไรก็ดี
แขกที่มาร่วมงานไม่ค่อยชอบใจนักที่อดสนุกกับการโปรยเมล็ดข้าวสาลีใส่เจ้าสาว
จึงมักจะโยนเค้กชิ้นเล็ก ๆ นี้แทน
กวีและปราชญ์ชาวโรมันชื่อ ลูครีเชียส
บันทึกไว้ว่าพัฒนาการของการโยนขนมเค้กใส่เจ้าสาวลดความ “รุนแรง”
ลงโดยเปลี่ยนเป็นการละเลงขนมลงบนศีรษะของเจ้าสาว
และเพื่อสืบทอดความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์คู่บ่าวสาวต้องรับ
ประทานส่วนของขนมที่ถูกละเลงแล้วร่วมกันด้วย
ประเพณีปฏิบัตินี้แพร่หลายไปทั่วยุโรปตะวันตก
ในประเทศอังกฤษเมื่อคู่บ่าวสาวรับประทานขนมแล้ว
ต้องจิบเหล้าชนิดพิเศษซึ่งเรียกกันว่า “เหล้าเจ้าสาว”
ตามด้วยพิธีโยนเค้กแต่งงานเพื่อเป็นเครื่องหมายให้คู่บ่าวสาว
“มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง” นั้นเปลี่ยนแปลงไปอีกในสมัยกลางตอนต้น
เมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง
เมล็ดข้าวสาลีดิบถูกนำกลับมาใช้โปรยใส่เจ้าสาวอีกครั้งหนึ่ง
ขนมเค้กซึ่งเคยอบอย่างพิธีพิถันก็เปลี่ยนเป็นเพียงขนมปังกรอบ
หรือขนมปังก้อนเล็ก ๆ ชนิดนุ่มรสหวานที่เรียกว่า “สคอน” (scone)
เพื่อรับประทานร่วมกันในงานแต่งงาน แขกที่มาร่วมงานก็จะอบขนมกันมาเอง
ส่วนที่เหลือจะนำไปแจกจ่ายให้คนยากจน
ประเพณีปฏิบัติที่ประหยัดเรียบง่ายนี้เอง เมื่อเวลาผ่านไป
ด้วยความช่างประดิษฐ์ประกอบกับการดูแคลนทุกสิ่งที่เป็นอังกฤษของชาวฝรั่งเศส
กลับเป็นที่มาของเค้กแต่งงานเป็นชั้น ๆ ซึ่งหรูที่สุด
ตำนานเล่าว่า ทั่วทุกแห่งในเกาะอังกฤษจะถือเป็นธรรมเนียมที่จะนำขนมปังกรอบ และสคอน ซึ่งแขกนำมาช่วยงานวางซ้อน ๆ กันเป็นกองใหญ่มหึมายิ่งกองสูงเท่าใดยิ่งดี เพราะถือกันว่าความสูงของกองขนมชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของคู่สมรสในอนาคต และเป็นธรรมเนียมอีกว่า เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องแลกจุมพิตกันบนกองขนม
ในช่วงค.ศ. 1660-1669
ระหว่างสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พ่อครัวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง
ได้ไปเที่ยวกรุงลอนดอนและเห็นพิธีการ “กองเค้ก”
พ่อครัวคนนี้รู้สึกใจหายใจคว่ำกับลักษณะที่คนอังกฤษเรียงขนมเค้กซ้อน ๆ
กันและบ่อยครั้งที่กองขนมพังครืนลงมา
เขาจึงได้ความคิดที่จะทำขนมเค้กก้อนใหญ่เป็นชั้น ๆ เคลือบด้วยน้ำตาลไอซิง
ซึ่งให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจเหมาะกับพิธีแต่งงาน
มากกว่ากองภูเขาขนมปังกรอบที่แสนจะธรรมดา
หนังสือพิมพ์อังกฤษในสมัยนั้นพากันประสานเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความฟุ่มเฟือย
สุรุ่ยสุร่ายของชาวฝรั่งเศส
แต่ปรากฏว่าก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษที่ 17
ช่างทำขนมชาวอังกฤษก็พร้อมใจกันทำขนมเค้กแต่งงานก้อนมหึมาเป็นชั้น ๆ
บริการให้แก่บรรดาลูกค้าของพวกเขา เค้กแต่งงานโดยส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่
มีรูปร่างเป็นชั้นๆเรียงกันขึ้นไป
และมีการตกแต่งอย่างสวยสดงดงามด้วยครีมและน้ำตาลแต่งหน้าเค้ก
ซึ่งในบางครั้งอาจมีการนำอัลมอนด์มาเป็นส่วนผสมในการทำ
โดยส่วนยอดของขนมเค้กนั้นมักประดับด้วยตุ๊กตาแทนตัวบ่าวสาว
หรือในบางความคิดอาจใช้เป็นรูปนก รูปแหวนทอง หรือรูปเกือกม้า
ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี
และความเจริญรุ่งเรืองสำหรับคู่บ่าวสาว
ซึ่งลักษณะของเค้กแต่งงานที่ดีจะต้องมีเนื้อแน่นสามารถรับน้ำหนักของชั้น
เค้กที่ตกแต่งอย่างสวยงามได้และที่สำคัญยังต้องรับประทานได้และอร่อยอีกด้วย
สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยทักษะ
ฝีมือความคิดสร้างสรรค์และความปราณีตเป็นอย่างมากจากพ่อครัว หรือผู้ทำขนม
ส่วนประเพณีการตัดเค้กนั้น
โดยส่วนใหญ่เจ้าสาวจะต้องเป็นคนตัดเค้กเอง
โดยที่เจ้าบ่าวมีหน้าที่แค่คอยช่วยเหลือ ซึ่งในประเพณีโบราณ
ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องตัดเค้กแล้วนำขนมเค้กที่ตัดแล้วไปมอบให้แก่บุคคลต่างๆ
ในครอบครัวของเจ้าบ่าวเพื่อแสดงความเคารพ
และแสดงให้เห็นว่าเธอกำลังจะก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวเจ้า
บ่าวนับจากนี้เป็นต้นไป
อีกทั้งยังมีประเพณีที่ให้คู่บ่าวสาวป้อนเค้กให้กันและกัน
คือการสื่อความหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องสร้าง
ครอบครัวใหม่ด้วยกัน และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จะต้องดูแลกันและกันตลอดไป
หลังตัดเค้กเป็นชิ้นๆแล้วฝ่ายบ่าวสาวก็จะแบ่งเค้กเหล่านั้นให้กับผู้ที่มา
ร่วมพิธีได้รับประทานกันซึ่งอาจจะรับประทานเลยหรือนำกลับบ้านไปฝากบุคคลที่
ไม่ได้มาร่วมงานก็อาจเป็นได้ ซึ่งในประเพณีโบราณเชื่อว่า
หากเพื่อนเจ้าสาวคนไหนอยากฝันเห็นเนื้อคู่ของคนในอนาคต
ให้นำเค้กแต่งงานไปไว้ใต้หมอนหรือข้างหมอนแล้วนอนหลับ
สาวคนนั้นจะฝันเห็นคู่ชีวิตของตน
หลังจากวันแต่งงานของคู่บ่าวสาวในยุโรปนิยมเก็บเค้กชั้นบนสุดไว้แล้วนำออกมา
รับประทานใหม่ในวันครบรอบแต่งงานหนึ่งปีและการฉลองอีกครั้งก็คงจะหนีไม่พ้น
เรื่องการให้กำเนิดเจ้าตัวน้อย
เพราะเหตุนี้เค้กบางส่วนในพิธีแต่งงานอาจจะถูกเก็บไว้กินเพื่อฉลองในวันครบ
รอบแต่งงานของบ่าวสาวในปีถัดๆ
ไปใช้ฉลองในวันที่คลอดลูกคนแรกแต่โดยส่วนใหญ่จะใช้ในพิธีตั้งชื่อบุตรตาม
หลักศริสต์ศาสนา ซึ่งจะเก็บรักษาเค้กด้วยการนำเข้าช่องแช่แข็งเอาไว้
ส่วนใหญ่จะเก็บชั้นบนสุดของเค้กที่มักจะตกแต่งด้วยผลไม้ซึ่งสามารถเก็บรักษา
เอาไว้ได้เป็นระยะเวลานานด้วยการแช่แข็ง
(ในสมัยก่อนวิธีการรักษาเค้กให้เก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานๆ
ก็คือการใช้น้ำตาลในปริมาณมากๆ เป็นส่วนผสมในการทำและแต่งหน้าเค้ก
เพื่อเพิ่มความหนาแน่นและลดช่องว่างไม่ให้อากาศเข้าไปในเนื้อเค้ก
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เค้กหมดอายุหรือเสียเร็วขึ้น)
No comments :
Post a Comment