Friday, November 23, 2012
นายทองใบ แตงน้อย
“ซองคำถาม” ใช้หนังสือแผนที่ภูมิศาสตร์ ของ ทองใบ แตงน้อย มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กระทั่งบัดนี้ก็ยังมีหนังสือแผนที่ ของท่านอยู่บนโต๊ะ ไว้ใช้อ้างอิงเวลาทำงาน แม้แผนที่โลกปัจจุบัน จะเปลี่ยนไปจากหนังสือแผนที่ ที่ท่านทำ กล่าวคือมีประเทศใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ “ซองคำถาม ” ก็ยังคุ้นเคยกับแผนที่ของ ทองใบ แตงน้อย ซึ่งเส้นสายชัดเจน และลายมือในแผนที่นั้น ก็คลาสสิกเอามาก ๆ
เมื่อได้คำถามจากคุณแตงใหญ่ “ซองคำถาม” ไปค้นข้อมูลแล้วหลงทางอยู่พักใหญ่ เพราะชื่อ ทองใบนั้นเป็นชื่อเดิม ท่านมาเปลี่ยนชื่อเป็น ทวี ตามรัฐนิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้นชื่อที่ปรากฏในดัชนีคำค้นประวัติ จึงใช้ชื่อว่า ทวี แตงน้อย
ทวี (ทองใบ) แตงน้อย เป็นบุตรขุนอภิเทศสุรทัณฑ์ (ไชย แตงน้อย) และนางอภิเทศสุรทัณฑ์ (เที่ยง) เกิดเมื่อวันที่ ๒๒” ธันวาคม ๒๔๕๔ ที่ตำบลสะพานเหล็ก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีกแปดคน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖
เมื่อท่านเปลี่ยนชื่อจาก ทองใบ เป็นทวี แต่คนทั้งหลายก็ยังเรียกท่านว่า ครูทองใบ ตลอดมา ในการเขียนตำราท่านจะเขียนชื่อทองใบไว้ในวงเล็บทุกครั้ง บางทีก็ใช้ชื่อว่า ท. แตงน้อย
ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นสามัญ จากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมวัดบวรนิเวศนั่นเอง จนสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
ครูทองใบอุปสมบทที่วัดชนะสงคราม จังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ไปจำพรรษาที่วัดนวลนรดิศเป็นเวลา ๔ เดือนเศษ หลังจากรับกฐินแล้วจึงลาสิกขา และสมรสกับนางสาวเชื้อ ต้อยปาน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ มีบุตรแปดคน เป็นชายล้วน
เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑” มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้รับบรรจุเป็นครูโรงเรียนมัธยมวัดนวลนรดิศ จังหวัดธนบุรี ในขณะนั้นเองได้ใช้เวลานอกราชการศึกษาต่อหลักสูตรครูมัธยม และได้วุฒิประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ และย้ายไปดำรงตำแหน่งครูตรีโรงเรียนประจำจังหวัดจันทบุรี “เบญจมราชูทิศ” ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดระยอง “ระยองมิตรอุปถัมภ์” ปัจจุบันคือ โรงเรียนประจำจังหวัด “ระยองวิทยาคม” และ พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี “ปราจิณราษฎรอำรุง” ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ คือเป็นอาจารย์ประจำกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ครั้น พ.ศ. ๒๕๑๓ เห็นว่าควรได้พักผ่อนเพื่อประกอบอาชีพส่วนตัว จึงลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ ๑” ปี รวมเวลารับราชการ ๓๘ ปี
ชีวิตของครูทองใบเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ เพื่อผดุงฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว เพราะมีบุตรหลายคน รายได้จึงไม่ใคร่พอเพียงกับรายจ่าย ครูทองใบเป็นคนที่มีฝีมือมาตั้งแต่ยังเด็ก สามารถถักลูกไม้ได้เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิง และจีบพลูได้ดี เคยนำไปฝากขายเป็นรายได้พิเศษ” เมื่อมีลูกมากขึ้นก็พยายามเลี้ยงเป็ดและหมูเป็นงานอดิเรก นอกจากนั้นก็พยายามใช้ความถนัดของตนเขียนตำราแผนที่ภูมิศาสตร์ขึ้น ให้โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชพิมพ์จำหน่าย ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยม ในตลาดหนังสือตำราเรียนอย่างรวดเร็ว ครูทองใบได้พยายามปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ โรงเรียนทั่วไปก็นิยมใช้กันอยู่จนปัจจุบันนี้ รายได้จากการจำหน่ายหนังสือภูมิศาสตร์ของครูทองใบ ทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น
หลานคนหนึ่งของครูทองใบเล่าว่า
“น้าทองใบ แตงน้อย มีฝีมือทางวาดเขียนและลายมืองาม ผลงานที่ทำให้น้าทองใบมีฐานะและชื่อเสียง คือ แผนที่สากล และแผนที่ภูมิศาสตร์ที่พิมพ์ออกจำหน่ายกว่า ๔๐ ปี ในบั้นปลายชีวิต น้าทองใบมีความสุขอยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างง่าย ๆ สมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ร่วมงานสังคมกับวงญาติสม่ำเสมอ และทำบุญเป็นประจำ”
ครูทองใบถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๙ รวมอายุได้ ๗๕ ปี ๑๑ เดือน ๑๕ วัน ทิ้งผลงานแผนที่ทั้งหมดเก้าเล่ม ไว้เป็นอนุสรณ์และวิทยาทานแก่คนรุ่นหลัง
Subscribe to:
Post Comments
(
Atom
)
No comments :
Post a Comment